วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข่าวสั้นทันภัยรายวัน ประจำวันที่9 มีนาคม 25



09/03 พายุหิมะพัดถล่มแคนาดา ทำให้ไฟฟ้าดับ
พายุฤดูหนาวที่พัดกระหน่ำรัฐนิว บรันส์วิก, เกาะปรินซ์เอดเวิร์ด และควิเบก ทำให้เกิดหิมะและฝนตกหนักทั่วพื้นที่ ความรุนแรงของพายุทำให้ไฟฟ้าถูกตัดขาด เนื่องจากคราบน้ำแข็งเกาะติดตามสายไฟ ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ บริษัทไฟฟ้าต้องเร่งมือกำจัดคราบน้ำแข็งโดยหวังว่าจะแก้ไขปัญหาและสามารถจ่ายไฟให้ชุมชนได้ภายในวันนี้ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ CBC News รายงานว่า มีประชาชนเกือบ 23,000 ครัวเรือน ในรัฐปรินซ์ เอดเวิร์ด ไอส์แลนด์ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่รัฐควิเบก มีหิมะตกหนากว่า 75 เซนติเมตร


9/03 สหรัฐเสี่ยงเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน
เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาสหรัฐ เตือนว่าในช่วง 2-3 วันนี้ในเขตแอตแลนติกตอนกลางของสหรัฐ มีโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักลงมาอีก ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำหลายสายอาจท่วมบ้านเรือน ทั้งนี้ ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ น้ำได้ลดระดับลงบ้างแล้ว หลังจากเกิดน้ำท่วมหนัก แต่ถนนหลายสายยังจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนบริเวณนิวอิงแลนด์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ทางการประกาศเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมครั้งใหม่ หลังจากที่ผู้คนในพื้นที่ส่วนนี้เพิ่งเผชิญกับหิมะและน้ำท่วม ซึ่งทางการเพิ่งเปิดใช้ถนนหลายสายอีกครั้ง หลังเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง


9/03 อุบลประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว25อำเภอ
จ.อุบลราชธานี เริ่มเข้าหน้าแล้ง ขณะนี้ชาวบางพื้นที่ เริ่มขาดแคลนน้ำทำการเกษตร หน่วยฝนหลวง เร่งทำฝน เพื่อเพิ่มน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ บรรเทาความแห้งแล้งในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จังหวัดใกล้เคียง นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า จากการขึ้นบินสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ขณะนี้การเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร
เขื่อนปากมูล พร้อมทั้งแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อย บางแห่งตื้นเขินจนมองเห็นพื้นดินใต้น้ำ และลำห้วยหลายสายแห้งขอด ซึ่งถือว่าเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤติแล้ว ถึงแม้ว่าบางพื้นที่จะทำฝ่ายกักเก็บน้ำไว้ใช้ แต่คงยังไม่เพียงพอสำหรับฤดูแล้งนี้แน่นอน และตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. 54 ที่ผ่านมา หน่วยฝนหลวงฯ ได้ เริ่มทำการบินเพื่อทำฝนหลวง ใช้เครื่องบิน จำนวน 3 ลำ วันละ 2 เที่ยว เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน และแหล่งน้ำต่างๆ บรรเทาความแห้งแล้งในพื้นที่จังหวัอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยังเปิดเผยต่อว่า จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วทั้ง 25 อำเภอ 2,700 กว่าหมู่ ส่วนการช่วยเหลือน้ำอุปโภค บริโภค ไม่มีปัญหาเพราะได้แบ่งพื้นที่ให้หลายหน่วยงานได้รับผิดชอบให้การช่วยเหลือแล้ว ส่วนที่มีปัญหาคือ น้ำสำหรับการเกษตร ต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน



9/03 ฝนกระหน่ำอ.ศรีนครินทร์ทำน้ำป่าหลากท่วมบ้านเรือน200หลัง
จังหวัดพัทลุงว่าสภาพฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืนของวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมาทำให้พื้นที่จังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอศรีนครินทร์ วัดปริมาณน้ำฝนได้ 120 มม. และอำเภอควนขนุน วัดได้ 116 มม. ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ ม. 2 ม. 3 ต.แพรกหา อ.ควนขนุน ทำให้บ้านเรือนกว่า 200 ครัวเรือนถูกน้ำท่วมขัง

นางอุ๋ย หนูเอียด อายุ 47 ปี บ้านเลขที่ 174 ม. 3 ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กล่าวว่า เมื่อคืนที่ผ่านได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนค่ำ จนกระทั่งช่วงตี 5 ได้มีกระแสน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนทำให้ต้องช่วยกันเคลื่อนย้ายข้าวของไว้ในที่สูงได้บางส่วน แต่มีตู้เย็นได้รับความเสียหาย เนื่องจากขนเคลื่อนย้ายไม่ทัน

ด้านนายจำลอง ไกรดิษฐ์ นายอำเภอควนขนุน กล่าวว่า เบื้องต้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พบว่าบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมฉับพลันประมาณ 200 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขัง บางส่วน จึงรายงานความเดือดร้อนของชาวบ้านไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุงเพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว



9/03 บุรีรัมย์แห้งวิกฤตสุดรอบ 40 ปี ชาวบ้านวอนรัฐสร้างเขื่อนแก้แล้งซ้ำซาก



สถานการณ์ภัยแล้งจ.บุรีรัมย์เริ่มรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ มีสภาพตื้นเขินแห้งขอดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา และเข้าขั้นวิกฤตสุดในรอบ40 ปี ส่งผลกระทบกับระบบผลิตน้ำประปา 2 หมู่บ้าน ติดริมมูล คือ บ้านท่าเรือ และ บ้านท่าม่วง ต.ท่าม่วง อ.สตึก ไม่มีน้ำในการทำประปาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านมานานกว่า 1 เดือน อีกทั้งน้ำมีสภาพเน่าเหม็นเนื่องจากตื้นเขินไม่ไหลเวียน

จากปัญหาดังกล่าวชาวบ้านจึงได้เร่งของบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการขุดลอกพื้นทรายลึกลงให้น้ำไหลซึมออกมา ก่อนสูบน้ำขึ้นมาทำประปา เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านบอกว่า น้ำในลำน้ำมูลได้เริ่มแห้งและตื้นเขินมาตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา จากปกติทุกปีน้ำจะเริ่มแห้งประมาณปลายเดือนมี.ค. หรือต้นเดือนเม.ย.

ทั้งเชื่อว่าสาเหตุที่น้ำในลำน้ำมูลประสบปัญหาแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วในปีนี้อาจเนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับปีนี้ได้มีเกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากลำน้ำมูลขึ้นไปใช้ในการทำนาปรังมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้

เกษตรกรเป็นสิ่งจูงใจให้มีการทำนาปรังเป็นจำนวนมาก จนทำให้น้ำในลำน้ำมูลเกิดวิกฤตแห้งขอด จึงขอให้ทางภาครัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้ามาสำรวจสร้างเขื่อนหรือฝายน้ำล้นเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวให้กับชาวบ้านและเกษตรกร ได้มีน้ำกินน้ำใช้และน้ำในการทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี

ด้านนายโสภา มิตรเจริญ อายุ 50 ปี ผู้ดูแลระบบประปาหมู่บ้านบ้านท่าเรือ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เดือนที่ผ่านมาไม่สามารถสูบน้ำจากลำน้ำมูลมาทำประปาได้ เนื่องจากน้ำมีสภาพแห้งขอดและตื้นเขินอยู่ในขั้นวิกฤต ชาวบ้านได้ของบประมาณฉุกเฉิน จากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าม่วงมาทำการขุดลอก เพื่อให้น้ำไหลซึมออกมากักเก็บในบ่อก่อนที่จะสูบขึ้นมาทำน้ำประปาหมู่บ้าน โดยในปีนี้ได้ขุดลอกไปแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งสถานการณ์น้ำมูลที่ตื้นเขินดังกล่าวไม่เคยพบมาก่อนในรอบ 40 ปี

ทางด้านบรรพต ฉิมมานิตย์ อายุ 49 ปี ชาวบ้านบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก บอกว่า ปีนี้น้ำมูลได้ตื้นเขินแห้งขอดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ไม่มีน้ำทำประปา สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านบ้านท่าเรือน กว่า 200 ครัวเรือน ไม่มีน้ำใช้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บางครัวเรือนที่น้ำในโอ่งหรือภาชนะกักเก็บที่รองน้ำฝนไว้ได้หมดลง ต้องซื้อน้ำจากพ่อค้ารถเร่เพื่อใช้บริโภคบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนน้ำอุปโภคหรือน้ำใช้ชาวบ้านต้องนำรถเข็นไปตักน้ำในลำน้ำมูลที่ตื้นเขิน และมีกลิ่นเหม็น มาอาบแก้ไขปัญหาชั่วคราว เพราะน้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ก็เหือดแห้งหมดแล้ว

นางบรรพต กล่าวอีกว่า ส่วนน้ำในบ่อที่ทาง อบต.มาทำการขุดลอกเพื่อใช้ทำประปา ก็คาดว่าจะใช้ได้อีกไม่เกิน 1 - 2 เดือนเท่านั้น จึงอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐได้เร่งเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน ส่วนในระยะยาวก็อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสำรวจสร้างเขื่อนหรือฝายกักเก็บน้ำ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี เพราะชาวบ้านต้องเผชิญกับปัญหาแล้งซ้ำซากเช่นนี้เป็นประจำทุกปี และสถานการณ์ก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ



9/03 เกิดสึนามิขนาดเล็กแผ่นดินไหว ขนาด 7.3 ริกเตอร์ประเทศญี่ปุ่น

แผ่นดินไหว ขนาด 7.3 ริกเตอร์ ลึก 5 กม.ฝั่งตะวันออกประเทศญี่ปุ่นทตอนเหนือ เกาะฮอนชู เมื่อเวลา 9.45น.ตามเวลาประเทศไทย มีรายงานพบสึนามิขนาดเล็กขณะที่เกิด อาฟเตอร์ช็อคตามาแล้วกว่า 2 ครั้ง ขนาด 5.8 ริกเตอร์ ลึก 75 กม.และ5.5 ริกเตอร์ จุดศูนย์กลางเดิม แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือบาดเจ็บ


9/03 เชียงใหม่ ประกาศแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ อนุมัติงบฯ อำเภอละ 1 ล้าน ช่วยเหลือ
จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเพิ่มอีก 1 อำเภอ คือ อำเภอสันทราย รวมเป็น 9 อำเภอ นายประจญ ปรัชญ์สกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากภัยแล้ง 9 อำเภอ คือ อำเภอฮอด, สันป่าตอง, อมก๋อย, ดอยเต่า, สะเมิง, กัลยาณิวัฒนา, จอมทอง, ดอยหล่อ และสันทราย โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก และพื้นที่ ที่ประกาศไปแล้ว 9 อำเภอ มีประชาชนเดือดร้อนกว่า 24,700 ครัวเรือน หรือ 89,600 คน พื้นที่เสียหายครอบคลุม 36 ตำบล 228 หมู่บ้าน โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้อนุมัติงบประมาณตามอำนาจและระเบียบกระทรวงการคลัง ให้อำเภอละ 1,000,000 บาท เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และให้จัดหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคส่วนอีก 16 อำเภอ ที่เหลือ ก็มีพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้ง แต่ยังอยู่ในความสามารถของพื้นที่ ที่ดูแลได้ ซึ่งหากเกินกำลัง ก็จะมีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากภัยแล้งต่อไป


9/03 สุราษฏร์ธานีลงไปชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ 9-11 มี.ค.
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้แล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ เกิดขึ้น
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 9-11 มี.ค. ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นทำให้คลื่นลมตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจะมีกำลังแรงขึ้นโดยทะเลมี
คลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ



9/03 พายุฤดูร้อน ถล่ม จ.พิจิตร มืดทั้งเมือง

ว่าที่ร้อยตรีสิทธิโชค อินทร์ปนาม ผู้จัดการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร เปิดเผยถึง ความเสียหายอันเนื่องมาจาก ได้เกิดพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำในเขตพื้นที่ อ.ตะพานหิน อ.ทับคล้อ ว่า ได้มีทั้งลมพายุและฝนตกลงมาอย่างหนักเป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง จนส่งผลให้ลมพายุ พัดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ตั้งอยู่ริมถนนตะพานหิน-ทับคล้อ ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 7 - 9 ระยะทาง 2 กิโลเมตร ส่งผลให้เสาไฟฟ้าแรงสูงจำนวน 39 ต้น หักโค่นล้มระเนระนาด สายไฟฟ้าแรงสูง และสายโทรศัพท์ขาด ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ไฟฟ้าดับในพื้นที่บ้านเรือนราษฎรเกือบ 7,000 หลังคาเรือน ล่าสุด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.ตะพานหิน ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 50 คน เร่งกู้สถานการณ์ เพื่อที่จะได้จ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ก็ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันแล้ว


สำหรับความเสียหายเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนประชาชนนั้น ก็กำลังเร่งสำรวจเพื่อให้ อบต. และป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร เข้าดำเนินการในการช่วยเหลือต่อไป






ที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น